รัฐธรรมนูญปี 2540 กำหนดว่า ประชาชนจะเสนอกฎหมายได้โดยเข้าชื่อกัน 50,000 คน และพ.ร.บ.ว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย พ.ศ. 2542 ก็กำหนดรายละเอียดต่างๆ ตามมา เช่น ต้องใช้หลักฐานเป็นสำเนาบัตรประชาชนและสำเนาทะเบียนบ้านของคนทั้ง 50,000 ประธานรัฐสภามีอำนาจสั่งไม่รับร่างกฎหมายของประชาชนได้หากเป็นกฎหมายที่ไม่เข้าหมวด 3 หรือหมวด 5 ของรัฐธรรมนูญ ซึ่งกว่า 15 ปีภายใต้ระบบนี้ สิทธิการมีส่วนร่วมโดยตรงของประชาชนแทบไม่เกิดขึ้นได้จริง จึงนำมาสู่การผลักดันเพื่อแก้ไขเสียใหม่
รัฐธรรมนูญปี 2550 กำหนดใหม่ว่า ประชาชนจะเสนอกฎหมายได้โดยเข้าชื่อกัน 10,000 คน ด้านภาคประชาชนอย่างมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติและสถาบันพระปกเกล้า ต่างจัดทำร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอกฎหมายแล้วรวบรวมรายชื่อประชาชนเสนอ เพื่อวางระบบการเข้าชื่อเสนอกฎหมายแบบใหม่ ส่งเสริมการใช้สิทธิของประชาชนให้มีความหวังมากขึ้น
ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอกฎหมายของภาคประชาชน ถูกนำมาพิจารณารวมกับร่างฉบับของรัฐบาล และแก้ไขกันในชั้นพิจารณา จนเมื่อวันที่ 30 ต.ค. 2556 รัฐสภาลงมติผ่านร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอกฎหมายเป็นที่เรียบร้อย ร่างฉบับที่ผ่านการพิจารณานี้แม้จะแก้ไขปัญหาเดิมๆ ไปแล้วหลายอย่าง แต่ก็เพิ่มขั้นตอนใหม่ๆ ขึ้นมาที่อาจมีนัยยะสำคัญต่อการใช้สิทธิเข้าชื่อเสนอกฎหมายของประชาชนในอนาคตได้
อ่านฉบับเต็มได้ที่ http://ilaw.or.th/node/2994